วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเขียนสตอรี่บอร์ด (Story board)

การเขียนสตอรี่บอร์ด (Story board)
          หลายคนอาจจะกลัวว่า ตัวเองวาดรูปไม่เก่งแล้วจะวาดสตอรี่บอร์ดไม่ได้ ไม่เป็นความจริงเลย เพราะการวาดสตอรี่บอร์ดเป็นเพียงรูปที่วาดง่ายๆ ก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดไอเดีย (Idea) หรือความคิดว่า ภาพควรออกมาอย่างรบนจอภาพยนตร์
          การเขียนสตอรี่บอร์ด แตกต่างจากการวาดภาพการ์ตูน หรือภาพที่เน้นความสวยงามแบบศิลปะ เป็นการร่างภาพอย่างคร่าวๆ เท่านั้น วัตถุประสงค์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น ภาพยนตร์ การ์ตูน โฆษณา สารคดี เป็นต้น โดยคำนึงถึงมุมกล้อง อาจมีบทสนทนาหรือไม่มีบทสนทนาก็ได้
ความหมายของสตอรี่บอร์ด (Story Board)
            สตอรี่บอร์ดคือ การเขียนภาพนิ่งเพื่อสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวในรูปของสื่อมัลติมีเดีย (Multimedia)  หรือสื่อประสม หมายถึงสื่อหลายแบบ เป็นการใช้สื่อในหลายรูปแบบ ทั้งข้อความ เสียง รูปภาพหรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อกำหนดแนวทางให้ทีมผู้ผลิตเกิดความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกันในการถ่ายทำเป็นภาพเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์การ์ตูน ภาพยนตร์สารคดี หรือแม้แต่การทำผลงาน โดยแสดงออกถึงความต่อเนื่องของการเล่าเรื่อง จุดประสงค์ของสตอรี่บอร์ดคือ เพื่อการเล่าเรื่อง ลำดับเรื่อง มุมกล้อง ภาพไม่จำเป็นต้องละเอียดมาก แค่บอกองค์ประกอบสำคัญได้ ตำแหน่งตัวละครที่สัมพันธ์กับฉากและตัวละครอื่นๆ มุมกล้อง แสงเงา เป็นการ สเก็ตซ์ภาพของเฟรม (Shot) ต่างๆ จากบท เหมือนการ์ตูนและวาดตัวละครเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม ฉากเป็นสี่เหลี่ยม การสร้างสตอรี่บอร์ดจะช่วยให้ Producer และผู้กำกับได้เห็นภาพของรายการที่จะถ่ายทำเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นได้ในแต่ละเฟรมที่จะดำเนินการ
ส่วนประกอบของสตอรี่บอร์ด
           สตอรี่บอร์ด ประกอบด้วยชุดของภาพ Sketches ของ shot ต่างๆ พร้อมคำบรรยายหรือบทสนทนาในเรื่อง อาจเขียนเรื่องย่อและบทก่อน หรือ Sketches ภาพก่อน แล้วจึงใส่คำบรรยายที่จำเป็นลงไป สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ภาพและเสียงต้องให้ไปด้วยกันได้ อาจมีบทสนทนาหรือไม่มีบทสนทนาก็ได้ หรืออาจมีบทบรรยายหรือไม่มีบทบรรยายก็ได้ โดยมีเสียงประกอบด้วย ได้แก่ เสียงดนตรี เสียงธรรมชาติหรือเสียงอื่นๆ สำหรับการผลิต
ชลพรรษ ดวงปัญญา, การเขียนสตอรี่บอร์ด (Story Board) [Online], 9 กันยายน 2553, แหล่งที่มา  http://province.m-culture.go.th/trat/storyboard2553/2.pdf
รายการที่สั้นๆ อย่างภาพยนตร์โฆษณา สามารถทำโดยใช้สตอรี่บอร์ดเป็นหลัก มิต้องเขียนบทหรือเขียนสคริปต์ขึ้นมา
ตัวอย่าง Storyboard
ความรู้พื้นฐานก่อนเขียนสตอรี่บอร์ด
           ก่อนเขียนสตอรี่บอร์ดจะต้องศึกษาการเขียนเรื่อง บทบรรยาย (Notation) รวมทั้งมุมกล้องให้เข้าใจก่อน จึงจะสามารถเขียนสตอรี่บอร์ดได้
           ศิลปะการเล่าเรื่อง ศิลปะการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิทาน นิยาย ละครหรือภาพยนตร์ ล้วนแต่มีรากฐานแบบเดียวกัน นั่นคือการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นของมนุษย์หรือสัตว์ หรือแม้แต่อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ สถานที่ใดที่หนหนึ่งเสมอ ฉะนั้น องค์ประกอบที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ตัวละคร สถานที่และเวลา สิ่งสำคัญในการเขียนบทหนังสั้นก็คือ การเริ่มค้นหาวัตถุดิบหรือแรงบันดาลใจ ให้ได้ว่า เราอยากจะพูด จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอะไร ตัวเราเองมีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ อย่างไร ซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนบทที่เราสามารถนำมาใช้ในก็คือ ตัวละคร แนวความคิดและเหตุการณ์ ควรจะมองหาวัตถุดิบในการสร้างเรื่องให้แคบอยู่ในสิ่งที่เรารู้สึก รู้จริง เพราะคนทำหนังสั้นมักจะทำเรื่องที่ไกลตัว หรือไม่ก็ไกลเกินจนทำให้เราไม่สามารถจำกัดขอบเขตได้
การเขียนเรื่องสั้น
          การเขียนเรื่องสั้น ต้องให้กระชับ ตัวละครมีบทสนทนาไม่มาก เทคนิคการเขียนเรื่องสั้น มีดังนี้
  1. ต้องมีการระบายสภาพและบรรยากาศ (Local Color) หมายถึงการพรรณนาภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำความคิดของผู้อ่านให้ซาบซึ้งในท้องเรื่อง ให้เห็นฉากที่เราวาดด้วย ตัวอักษรนั้นต้องชัดเจน
  2. การวางโครงเรื่อง (Plot) มีการเริ่มนำเรื่องจนถึงปลายยอดเรื่อง หรือที่เรียกว่า ไคลแมกซ์ (Climax) และจบเรื่องลงโดยเร็ว ให้ผู้อ่านโล่งใจ เข้าใจและสะเทือนใจ หรือเป็นแบบสองซ้อนเหตุการณ์
  3. การจัดตัวละครและให้บทบาท เป็นตัวละครที่สำคัญในเรื่อง เพื่อแสดงลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใด ก่อให้เกิดเรื่องราวขึ้น
  4. การบรรยายเรื่อง แบบการมีตัวตนที่เข้าไปอยู่ในตัวเรื่อง และการเป็นบุรุษที่สาม ได้แก่ ตัวละครแสดงบทบาทของตนเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุด
  5. การเปิดเรื่อง อาจทำได้โดยการให้ตัวละครพูดกัน การบรรยายตัวละคร การวางฉากและการบรรยายตัวละครประกอบ  การบรรยายพฤติกรรมและตัวละคร
  6. บทเจรจา หรือคำพูดของตัวละคร ต้องเขียนให้เป็นภาษามนุษย์พูดกัน และต้องให้เหมาะกับบทบาทและเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับตัวละคร
  7. ต้องมีความแน่น คือพูดให้ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ใช้คำไม่ฟุ่มเฟือย
  8. การตั้งชื่อตัวละคร ควรให้ชื่อที่ใกล้เคียงกับชื่อคนจริงๆ ส่วนชื่อเรื่องก็ควงเป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความอยากอ่าน ใช้คำสั้นๆ แต่ให้น่าทึ่ง
  9. การทำบท คือการบรรยายให้ตัวละครแสดงบทบาทเช่นเดียวกับการแสดงละคร ต้องพรรณนาถึงกิริยาท่าทาง อาการรำพึงรำพัน เป็นต้น
การทำสตอรี่บอร์ด
การทำสตอรี่บอร์ดเป็นการสร้างตารางขึ้นมาเพื่อร่างภาพลงไปตามลำดับขั้นตอนของเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ทุกๆฝ่ายสามารถมองเห็นภาพรวมของงานที่จะลงมือทำได้ล่วงหน้า ซึ่งหากมีข้อที่ต้องแก้ไขใดๆเกิดขึ้นก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ และทำสตอรี่บอร์ดใหม่ได้ การทำสตอรี่บอร์ดนั้นโดยหลักแล้ว จะเป็นต้นแบบของการนำไปสร้างภาพจริง และเป็นตัวกำหนดในการทำงานอื่นๆ ไปด้วยเช่น เสียงพากย์ เสียงดนตรี เสียงประกอบอื่นๆ special effect จึงเป็นการร่างภาพ พร้อมกับการระบุรายละเอียดที่จำเป็นต้องทำลงไป
หลักการเขียนสตอรี่บอร์ด  
รูปแบบของสตอรี่บอร์ด จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนเสียงกับส่วนภาพ โดยปกติการเขียนสตอรี่บอร์ด 24 เฟรม คือภาพ 24 ภาพ เมื่อถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ใช้เวลา 1 นาที ถ้าเป็นภาพยนตร์โฆษณา ในเวลา 30 วินาที ต้องเขียน 12 เฟรม การเขียนบทบรรยายจะเป็นส่วนสนับสนุนการนำเสนอภาพ มิใช่การนำเสนอบทบรรยายนั้น ความยาวของคำบรรยายมีหลักการในการจัดทำ 3 ประการคือ
  1. ต้องเหมาะสมกับลักษณะของผู้ชม
  2. ต้องมีความยาวพอที่จะครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่กำหนด
  3. ต้องให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับรายการที่ใช้การบรรยายแบบ “Voice Over” ควรมีภาพของผู้บรรยายปรากฏขึ้นในตอนเริ่มรายการก่อน จะทำให้รายการดูเป็นกันเองมากขึ้น และถ้ารายการยาวมาก ควรให้ผู้บรรยายมากกว่า 1 คน จะทำให้ลดความเบื่อหน่ายจำเจของรายการลงได้ เสียงบรรยายไม่จำเป็นต้องมีอยู่ตลอด ควรทิ้งช่วงโดยใช้ดนตรีและเสียงอื่นประกอบด้วย
สิ่งสำคัญที่อยู่ในสตอรี่บอร์ด  ประกอบด้วย
  1. Subject หรือ Character ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่หรือตัวการ์ตูน และที่สำคัญคือ พวกเขากำลังเคลื่อนไหวอย่างไร
  2. กล้อง ทั้งในเรื่องของขนาดภาพ มุมภาพและการเคลื่อนกล้อง
  3. เสียง การพูดกันระหว่างตัวละคร มีเสียงประกอบหรือเสียงดนตรีอย่างไร
   
วิธีการเขียนสตอรี่บอร์ด
          สตอรี่บอร์ด (Story board) คือการเขียนกรอบแสดงเรื่องราวที่สมบูรณ์ของภาพยนตร์หรือหนังแต่ละเรื่อง โดยมีการแสดงรายละเอียดที่จะปรากฏในแต่ละฉากหรือแต่ละหน้าจอ เช่น ข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียงดนตรี เสียงพูดและแต่ละอย่างนั้นมีลำดับของการปรากฏ ว่าอะไรจะปรากฏขึ้นก่อน-หลัง อะไรจะปรากฏพร้อมกัน เป็นการออกแบบอย่างละเอียดในแต่ละหน้าจอก่อนที่จะลงมือสร้างเอนิเมชันหรือหนังขึ้นมาจริงๆ
อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี., ทำอย่างไรให้ Story Board โดนใจกรรมการ [Online], 31 สิงหาคม 2553, แหล่งที่มา http://thailandanimation.aacp.co.th/th/StoryBoard.aspx
ตัวอย่างการเตรียมเรื่อง/ บท
บทภาพยนตร์แอนิเมชั่น ความยาว 4 นาที
เรื่องสามหนูกับหนึ่งแมวแดงใหญ่ ตอน แขนกุด หูขาด ตาบอด
เขียนบทโดย คมกฤช มานนท์
ลำดับ
เหตุการณ์
1
หนูสามตัวกำลังรุมแย่งข้าวโพดกัน
2
แมวแดงใหญ่แอบซุ่มดูอยู่
3
หนูสามตัวลงมือลงไม้กันเข้าแล้ว
          สิ่งแรกที่เราจะต้องทำในการสร้างภาพยนตร์ เรื่องที่เราทำจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าเราจะนำเอาไปใช้ในโอกาสอะไร เช่นอาจจะทำเพื่อฉายทางโทรทัศน์ หรือทางเว็ปไซต์ เนื้อเรื่องที่ดีควรตอบสนองวัตถุประสงค์นั้นๆซึ่งจะคำนึงถึงความสั้น-ยาว ของเรื่องด้วย และเมื่อได้เนื้อเรื่องแล้ว ก็บันทึกไว้ แล้วเขียนออกมาเป็นบทภาพยนตร์ ซึ่งวิธีการเขียนบทภาพยนตร์มีหลายแบบ เช่น การเขียนบทที่ใช้ในการทำแอนิเมชั่นเรื่อง สามหนูกับหนึ่งแมวแดงใหญ่ จะเป็นลักษณะที่ประยุกต์ขึ้นใช้ใหม่ เพราะเป็นหนังใบ้ คือตัวการ์ตูนไม่พูดอะไร ดังนั้นตรงช่องลำดับเรื่องราวสามารถเปลี่ยนให้เป็นเสียงได้
การออกแบบตัวละคร
          การออกแบบตัวละครเป็นขั้นตอนของสร้างตัวละครขึ้นมาตามเนื้อเรื่องที่เราสร้างขึ้น โดยตัวละครใดๆก็ตาม ถ้าระบายสีดำลงไปในตัวละครนั้นทั้งตัวซึ่งจะทำให้มองเห็นแต่โครงร่างเท่านั้น หากตัวละครตัวนั้นดูโดดเด่นและมีบุคลิกที่สามารถจดจำได้ง่าย นั่นละที่เรียกว่าตัวละครที่ดี
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงอีกมากมายเช่นความสวยงาม และสิ่งหนึ่งที่ทำเมื่อลงมือออกแบบสามหนูกับหนึ่งแมวแดงใหญ่คือ เรียบง่าย และมีบุคลิกภาพเฉพาะที่เป็นตัว นั่นเป็นเพราะเชื่อว่ามันจะช่วยทำให้ขั้นตอนการลงมือวาดจริงนั้นจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ และสำหรับภาพประกอบด้านบนคือสามหนูกับหนึ่งแมวแดงใหญ่ในร่างแรกก่อนที่จะพัฒนาขัดเกลาแบบจนได้ตัวจริง
แบบฝึกหัดท้ายบทที่ 6 การเขียนสตอรี่บอร์ด (Story board)
          กำหนดให้นักศึกษาเขียนแผนผังโครงเรื่องละครสั้น หรือนิทานเรื่องสั้นจากการแนวความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ไม่เกินคนละ 10 กรอบ/ เล่ม โดยทำการเขียนรายละเอียดลงในแบบฟอร์มการเขียนสตอรี่บอร์ดที่กำหนดให้ แล้วจัดรูปแบบเป็นรูปเล่มแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้

อ้างอิง http://202.29.15.34/eduit/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=17

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น